วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความตาย

 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์


เรื่อง  ความตาย
                         ควรพวกเราทั้งหลายคิดดูให้เห็นโทษ  และคุณแห่งความตายเสียให้ชัดใจ
                        ผู้มีปัญญาไม่ควรประมาทความตาย  ให้เห็นว่าเป็นสมบัติสำหรับตัวเรา  เราจะต้องตายในกาลอันสมควร  คือความตายมาถึงเราสมัยใด  สมัยนั้นแหละชื่อว่ากาลอันสมควร  ไม่ควรจะเกลียดไม่ควรจะกลัว
                         สังขารทั้งหลาย คือสัตว์ที่เกิดมาในไตรภพ  จะหลีกหลบให้พ้นจากความตายไม่มีเลย
                         เมื่อมีความเกิดเป็นเบื้องต้นแล้ว  ย่อมมีความตายเป็นเบื้องปลายทุกคน
                         นัยหนึ่งให้เอาความเกิด  ความตาย  ซึ่งมีประจำอยู่ทุกวันเป็นเครื่องหมาย
                         เมื่อพิจารณาถึงความตาย  ก็ต้องพิจารณาถึงความป่วยไข้และความแก่ความชรา  เพราะเป็นเหตุเป็นผลกัน ให้พิจารณาถึงพยาธิความป่วยไข้ว่า  พยาธิ  ธมฺโมมฺหิ  พยาธิ  อนตีโต  เรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา  จะข้ามล่วงพ้นไปจากความป่วยไข้หาได้ไม่
                         ถ้าแลพิจารณาเห็นความชราอันเป็นปัจจุบันได้ก็ยิ่งประเสริฐ
                         ความระงับสังขารทั้งหลายนั้น  ท่านมิได้หมายความตาย  ท่านหมายวิปัสสนาญาณและอาสวักขยญาณ  คือปัญญารู้เท่าสังขาร  รู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ  เป็นชื่อของพระนิพพาน  เป็นยอดแห่งความสุข

 (คัดจาก  หนังสือรวมคำสอนจากพระป่า)
(จากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน  เล่ม 1) 



วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปัญญา


ตามปกติคนเรามีปัญญาอยู่ในตัว แต่ใช้ปัญญาไปในทางโลกเสียส่วนใหญ่จึงได้ถูกตัณหาคือความอยากชักลากเอาปัญญาไปครอบครอง  ปัญญาจึงกลายเป็นความคิดเห็น เป็นลูกมือให้แก่กิเลสตัณหาไป
เหมือนกับอาวุธของตำรวจที่ถูกพวกโจรลักไปได้แล้ว ก็จะเป็นเครื่องมือให้แก่พวกโจรไป อยากจะทำอะไรให้คนอื่นได้รับความทุกข์เดือดร้อนอย่างไร ก็ทำตามใจ นี้ฉันใด ปัญญาของเรา เมื่อถูกกิเลสตัณหาลักพาไปได้แล้ว ก็จะกลายเป็นความคิดเพื่อเสริมการทำงานให้แก่กิเลสตัณหาได้เป็นอย่างดี
ถ้าเป็นฝ่ายธรรม เรียกว่า ปัญญา
ถ้าเป็นฝ่ายกิเลสตัณหา เรียกว่า ความคิดปรุงแต่งไปตามสังขาร
เหมือนกับปากกาด้ามเดียว
ถ้าเขียนไปทางคดีโลก ก็เป็นเรื่องของทางโลกไป
ถ้าเขียนในทางธรรม ก็เป็นเรื่องของธรรม
คิดเรื่องถูก ใจก็เป็น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก
คิดในเรื่องผิด ใจก็เกิดความเห็นผิด คิดเรื่องชั่ว ใจก็พลอยเห็นชั่วไปด้วย
คิดเรื่องดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับเรานำเอาเรื่องมาคิด
คิดในเรื่องอะไร ใจก็จะค่อยตามความคิดนั้นๆ
ความคิดเป็นศัพท์ของชาวบ้านพูดกันทั่วไป
ปัญญาเป็นศัพท์พูดกันให้ถูกกับภาษาธรรม
เหมือนคำพูดที่ว่า คนพาลก็หมายถึงคนที่ไม่ดี
ในศัพท์คำพูดว่า นักปราชญ์บัณฑิตก็หมายถึงคนดี
ทั้งที่มีภูมิฐานเชื้อชาติเป็นมนุษย์ด้วยกัน นี้ฉันใด
ปัญญา กับ สังขารการปรุงแต่ง ก็เป็นในลักษณะความคิดเช่นเดียวกัน
แต่ก็คิดไปคนละเรื่อง คิดไปคนละทาง
สังขารการปรุงแต่งคิดในเรื่องเข้าฝ่ายของกิเลสตัณหา
ปัญญาคิดในเรื่องเข้าฝ่ายในทางธรรม


วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กำลังใจดีๆ ให้ตัวเอง

 



 
.. ไม่มีใครเกิดมาไร้ค่า
แม้แต่คนโง่ที่สุดยังฉลาดในบางเรื่อง
และคนฉลาดที่สุด
ก็ยังโง่ในหลายเรื่อง ..


.. ไม่มีอะไรเสียเวลาไปมากกว่า
การคิดที่จะย้อนกลับไปแก้ไขอดีต

ไม่เคยมีอะไรช้าเกินไป
ที่จะทำใหสิ่งที่ตนฝัน ..


.. คนที่ไม่เคยหิว
ย่อมไม่ซาบซึ้งรสของความอิ่ม

ความสำเร็จที่ผ่านความล้มเหลว
ย่อมหอมหวานกว่าเดิม ..

 
.. อันตรายที่สุดของชีวิตคนเราคือ การคาดหวัง
อย่ายอมแพ้ ถ้ายังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่
เหตุผลขอคนๆ หนึ่ง อาจไม่ใช่เหตุผลของคน
อีกคนนึง ถ้าคุณไม่ลองก้าว คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า

ทางข้างหน้าเป็นอย่างไร
ปัญหาทุกอย่างล้วนอยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น
ยินดีกับสิ่งที่ได้มา และยอมรับกับสิ่งที่เสียไป
หลังพายุผ่านไป ฟ้าย่อมสดใสเสมอ
มีแต่วันนี้ที่มีค่า ไม่มีวันหน้า วันหลัง ..


.. คนเรา
ไม่ต้องเก่งไปทุกอย่าง
แต่จงสนุกกับงานทุกชิ้น ที่ได้ทำ ..


หัวใจของการเดินทางไม่ได้อยู่ที่จุดหมาย
หากอยู่ที่ประสบการณ์สองข้างทาง .. มากกว่า


........................................
บทความจาก  
http://www.watsuthatschool.com/viteput/

" ธรรมะสั้นๆ ง่ายๆ 10 ข้อ "...




1. ศีลไม่ได้อยู่ที่พระ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัด เงินไม่ได้อยู่ที่เศรษฐี 
แต่ศีลอยู่ที่กายใจของเรา ธรรมะอยู่ที่สติ และเงินอยู่ทุกที่ ที่มีความขยัน

2. โลกเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า เราใส่แว่นตาสีอะไรมองโลก
หากมองโลกดี ชีวิตจะมีแต่สิ่งรื่นรมย์
หากมองโลกร้าย ชีวิตจะมีแต่วุ่นวายและทุกข์ระทม


3. จงดึงเอาความรู้สึกผิดที่เรามี มาเป็นแรงบันดาลใจให้ทำดียิ่งๆ ขึ้น
อย่าจมอยู่กับอดีต มีแต่การสร้างตัวเองใหม่เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากความรู้สึกผิด


4. ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมี แต่อยู่ที่เราค้นพบว่า อะไรคือแก่นแท้ของชีวิต
แล้วอยู่กับสิ่งนั้นด้วยความรัก คนนั้นก็คือคนมีความสุข


5. ยามใดที่ชีวิตพบกับความทุกข์ หากไม่มัวแต่เป็นทุกข์
ทว่าเรียนรู้ที่จะมองดูความทุกข์อย่างมีสติ อย่างแยบคาย* อย่างเป็นผู้ดู* ไม่ได้เป็นผู้เป็น*
ความทุกข์ก็จะทอประกายแห่งความสุขออกมาให้เห็น


6. ในเมื่อไม่มีสิ่งที่เราชอบ เราก็ควรชอบสิ่งที่เรามี
เพราะในโลกนี้ไม่มีใครได้ทุกสิ่งอย่างใจหวัง และจะไม่มีใครพลาดหวังทุกอย่างไป
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทำ มีแง่ดีแง่งามอยู่เสมอ
ขอให้เรามองให้เห็น ถ้ามองเห็น เราก็จะเป็นสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า


7. ในโลกแห่งความเป็นจริง คนทุกคนก็เป็นครูได้
คนเก่ง ไม่เก่ง ฉลาดรู้หนังสือ ไม่รู้หนังสือ ยากดีมีจน
สัตว์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ ดิน ฟ้า อากาศ ความผิดหวัง ความสมหวัง ความรัก ความชัง ฯลฯ
เหล่านี้ คือ ครูในมหาวิทยาลัยชีวิต ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ ศึกษากันไปอย่างไม่มีวันจบ


8. อย่าแบกอะไรที่เกินกำลังของตัวเอง
เพราะไม่เพียงแต่ มันจะทำให้เราเป็นทุกข์
แต่บางทีอาจมีผลต่อการยืนตรงๆ อย่างยาวนานของเราด้วย


9. เรื่องบางเรื่องไม่ใช่เรื่องที่ควรทุกข์ แต่พอเราไม่ยอมปล่อยวาง ทุกข์ก็รุกคืบเข้ามา
เรื่องบางเรื่องใครต่อใครก็เห็นอยู่ว่า ทุกข์หนักหนาสาหัส
แต่สำหรับคนที่ปล่อยวางเป็น ก็เป็นสุข
คือ ความสุขหรือความทุกข์ บางครั้งอยู่ที่ “ท่าที” ในการเผชิญของเราเป็นสำคัญ
ถ้า “รู้เท่าทัน” สิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างมีสติ
ทุกข์อาจกลายเป็นสุข, ปัญหาอาจกลายเป็นปัญญา, วิกฤติอาจถูกแปรเป็นโอกาส


10. ความล้มเหลว เป็นส่วนผสมของชีวิตซึ่งขาดไม่ได้
คนที่ไม่เคยล้มเหลว คือคนที่ไม่เคยทำอะไร
ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ คนที่กำลังคิดการใหญ่ทุกคน จึงมองความล้มเหลว ด้วยสายตาที่เป็นบวก
เพราะเขารู้อยู่แก่ใจว่า ความล้มเหลว เป็นฝาแฝดกับความสำเร็จ


วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คุณค่าของกาลเวลา



      อจฺเจนฺติ อโรหรตฺตา ชีวิตํ อุปฺรุชฺชติ กุณฺฑที ทมิโวทกํ ติฯ
      
      กาลเวลาเป็นของมิใช่จะให้ประโยชน์แก่โลกทั่วไปเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้มีปัญญาสนใจในธรรมปฏิบัติ รีบเร่งฝึกหัดใจของตนๆ ให้ทันกับกาลเวลาอีกด้วย แท้จริงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ ต้องขึ้นอยู่กับกาลเวลาทั้งนั้น เช่น ดินฟ้าอากาศ ฤดู ปี เดือน ต้นไม้ ผลไม้ และธุระการงานที่สัตว์โลกทำอยู่ แม้แต่ความเกิด ความแก่ และความตาย ถึงแม้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นอยู่ตามหน้าที่ของเขาก็ตาม แต่ต้องอยู่กับกาลเวลา ถ้าหากกาลเวลาไม่ปรากฏแล้ว สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏเลย จะมีแต่สูญเรื่อยไปเท่านั้น
      
      กาลเวลาได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลกนี้มิใช่น้อย ชาวกสิกรก็ต้องอาศัยวัสสานฤดู ปลูกพืชพันธุ์ในไร่นาของตนๆ เมื่อฝนไม่ตกก็พากันเฝ้าบ่นว่าเมื่อไรหนอพระพิรุณจะประทานน้ำฝนมาให้ ใจก็ละห้อย ตาก็จับจ้องดูท้องฟ้า เมื่อฝนตกลงมาให้ต่างก็พากันชื่นใจระเริงด้วยความเบิกบาน แม้ที่สุดแต่ต้นไม้ซึ่งเป็นของหาวิญญาณมิได้ ก็อดที่จะแสดงความดีใจด้วยอาการสดชื่นไม่ได้ ต่างก็พากันผลิดอกออกประชันขันแข่งกัน ชาวกสิกรตื่นดึกลุกเช้าเฝ้าแต่จะประกอบการงานของตนๆ ตากแดด กรำฝน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเย็นร้อนอนาทร
      
      ชาวพ่อค้าวาณิชนักธุรกิจ ก็คอยหาโอกาสแต่ฤดูแล้ง เพื่อสะดวกแก่การคมนาคมและขนส่ง เมื่อแล้งแล้วต่างก็พากันจัดแจงเตรียมสินค้าไม่ว่าทางน้ำและทางบก
      
      ฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในบุญกุศล ก็พากันมีจิตจดจ่อเฉพาะเช่นเดียวกันว่า เมื่อไรหนอจะถึงวันมาฆะ-วิสาขะ-อาสาฬหะ เวียนเทียนประทักษิณนอบ น้อมต่อพระรัตนตรัย เมื่อไรหนอจะถึงวันเข้าพรรษา-ออกพรรษา-เทโวโรหนะตักบาตรประจำปี
      
      วันทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เนื่องด้วยกาลเวลา ทั้งนั้น และเป็นวันสำคัญของชาวพุทธเสียด้วย เมื่อถึงวันเวลาเช่นนั้นเข้าแล้ว ชาวพุทธทั้งหลายไม่ว่าหญิงชายน้อยใหญ่ แม้จะฐานะเช่นไร อยู่กินกันเช่นไรก็ตาม จำต้องสละหน้าที่การงานของตน เข้าวัดทำบุญตักบาตร อย่างน้อยวันหนึ่ง หากคนใดไม่ได้เข้าวัดทำบุญสังสรรค์กับมิตรในวันดังกล่าวแล้ว ถือว่าเป็นคนอาภัพ
      
      ส่วนนักภาวนาเจริญสติปัฏฐาน ย่อมพิจารณาเห็นอายุสังขารของตนเป็นของน้อยนิดเดียว เปรียบเหมือนกับน้ำตกอยู่บนใบบัว เมื่อถูกแสงแดดแล้วพลันที่จะเหือด แห้งอย่างไม่ปรากฏ แล้วก็เกิดความสลดสังเวช ปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณญาณ
      
      กาลเวลาจึงว่าเป็นของดีมีประโยชน์แก่คนทุกๆ ชั้นในโลกนี้และโลกหน้า ดังพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า
      
      อจฺเจนฺติ อโรหรตฺตา ชีวิตํ อุปฺรุชฺชติ กุณฺฑที ทมิโวทกํ
      แปลว่า โอ้ชีวิตเป็นของน้อย ย่อมรุกร่นเข้าไปหาความตายทุกที เหมือนกับน้ำในรอยโค เมื่อถูกแสงพระอาทิตย์แล้ว ก็มีแต่จะแห้งไปทุกวันฉะนั้นฯ
      
      โดยอธิบายว่า ชีวิตอายุของเรา ถึงแม้ว่าจะมีอายุอยู่ได้ตั้งร้อยปี ก็นับว่าเป็นของน้อยกว่าสัตว์จำพวกอื่นๆ เช่นเต่าและปลาในทะเลเป็นต้น ซึ่งเขาเหล่านั้นมีอายุตัวละมากๆ เป็นร้อยๆ ปี ตั๊กแตน แมลงวัน เขามีอายุเพียง ๗-๑๐ วันเขาก็ถือว่าเขามีอายุโขอยู่แล้ว แต่มนุษย์เราเห็น ว่าเขามีอายุน้อยเดียว
      
      ผู้มีอัปมาทธรรมเป็นเครื่องอยู่ เมื่อมาเพ่งพิจารณาถึงอายุของน้อย พลันหมดสิ้นไปๆใกล้ต่อความตายเข้ามาทุกที กิจหน้าที่การงานของตนที่ประกอบอยู่จะไม่ทันสำเร็จ ถึงไม่ตายก็ทุพพลภาพเพราะความแก่ แล้วก็ได้ขวนขวายประกอบกิจหน้าที่ของตนเพื่อให้สำเร็จโดยเร็วพลัน กาลเวลาจึงอุปมาเหมือนกับนายผู้ควบคุมกรรมกรให้ทำงานแข่งกับเวลา ฉะนั้นฯ
      
      ทาน การสละวัตถุสิ่งของของตนที่มีอยู่ให้แก่บุคคลอื่น นอกจากผู้ให้จะได้ความอิ่มใจ เพราะความดีของตน แล้ว ผู้รับยังได้บริโภคใช้สอยวัตถุสิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตนอีกด้วย นับว่าไม่มีเสียผลทั้งสองฝ่าย แต่กาลเวลาที่สละทิ้งชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายแล้วไม่เป็นผลแก่ทั้งสองฝ่าย คือกาลเวลาก็หมดไป ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เสื่อมสูญไป ยังเหลือแต่ความคร่ำคร่าเหี่ยวแห้งระทมทุกข์ อันใครๆไม่พึงปรารถนาทั้งนั้น นอกจากบัณฑิตผู้ฉลาดในอุบาย น้อมนำเอาความเสื่อมสิ้นไปแห่งชีวิตนั้นเข้ามาพิจารณา ให้เห็นสภาพสังขารเป็นของไม่เที่ยง จนให้เกิดปัญญาสลดสังเวช อันเป็นเหตุจะให้เบื่อหน่าย คลายเสียจากความยึดมั่นในสังขารทั้งปวง
      
      ฉะนั้น ทาน การสละให้ปันสิ่งของของตนที่หามาได้ในทางที่ชอบให้แก่ผู้อื่น ในเมื่อกาลเวลากำลังคร่าเอาชีวิตของเราไปอยู่ จึงเป็นของควรทำเพื่อชดใช้ชีวิตที่หมดไปนั้นให้ได้ทุน (คือบุญ)กลับคืนมา
      
      การรักษาศีล ก็เป็นทานอันหนึ่ง เรียกว่า อภัยทาน นอกจากจะเป็นการจาคะสละความชั่วของตนแล้ว ยังเป็นการให้อภัยแก่สัตว์ที่เราจะต้องฆ่า และสิ่งของที่เราจะต้องขโมยเขาเป็นต้นอีกด้วย นี้ก็เป็นการทำความดี เพื่อชดใช้ชีวิตของเราที่กาลเวลาคร่าไปอีกด้วย
      
      ผู้กระทำชั่วพระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีหนี้ติดตัว ผู้มีหนี้ติดตัวย่อมได้รับความทุกข์เดือดร้อน ฉะนั้น บาปกรรมชั่วเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ แต่ผู้ใดทำลงไปแล้วแม้คนอื่นทั้งโลกเขาจะไม่เห็นก็ตาม แต่ความชั่วที่ตนกระทำลงไป แล้วนั่นแล เป็นเจ้าของมาทวงเอาหนี้ (คือความเดือดร้อน ภายหลัง) อยู่เสมอ ยิ่งซ้ำร้ายกว่าหนี้ที่มีเจ้าของเสียอีก
      
      เป็นที่น่าเสียดาย บางคนผู้ประมาทแล้วด้วยยศด้วยลาภก็ตาม ไม่ได้นึกคิดถึงชีวิตอัตภาพของตน กลัวอย่างเดียวแต่กาลเวลาจะผ่านพ้นไป แล้วตัวของเขาเองจะไม่ได้ทำความชั่ว ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของดีแล้ว เช่น สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ฯลฯ เป็นต้น นำเอาชีวิตของตนที่ยังเหลืออยู่นั้น ไปทุ่มเทลงในหลุมแห่งอบายมุขหมดบุญกรรมนำส่งมาให้ได้ดิบได้ดี มีสมบัติอัครฐานอย่างมโหฬาร เตรียมพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขัดสน แต่เห็นความพร้อมมูลเหล่านั้นเป็นเรื่องความทุกข์ไป สู้ความชั่วอบายมุขไม่ได้