วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

วันออกพรรษา


วันออกพรรษา

  ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๑ ๑
วันออกพรรษา คือวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่ในฤดูฝนซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

     วันออกพรรษานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า"ปวารณา"แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" คือ เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกัน ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้งล่วงเกินระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้ม มัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศลกรรมการ "ตักบาตรเทโว" คำว่า "เทโว" ย่อมาจาก"เทโวโรหน" แปลว่าการเสด็จจากเทวโลกการตักบาตรเทโว จึงเป็นการระลึกถึงวันที่ พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรด พระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศล เนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย ก็มีพิธีเหมือนกันหมด จะผิดกันก็เพียงแต่สถานที่ ที่สมมติว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เท่านั้น

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา
  ๑. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
  ๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
  ๓. ร่วมกุศลธรรม "ตักบาตรเทโว"
  ๔. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและ ประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
  ๕. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

ประเพณีตักบาตรเทโว วัดสะแกกรัง อุทัยธานี
ที่ขบวนพระภิกษุเดินลงมาที่วัดสะแกกรัง หรือวัดสังกัสรัตนคีรี ในจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเขาสูง พิธีตักบาตรเทโวที่วัดนี้บรรดาพระภิกษุจะพากันเดินขบวนลงมาจากบนเขา มาตามบันไดดูเหลืองอร่ามงามจับตา โดยมีบรรดาพุทธศาสนิกชนจะพากันใส่บาตรตามเชิงบันไดเรื่อยมาจนถึงพื้นล่าง

หลังจากวันออกพรรษาแล้วมีประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมทำกันมากคือ การทอดกฐิน
ขอบคุณที่มาจาก : http://www.dhammathai.org/day/orkpansa.php

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความตาย

 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์


เรื่อง  ความตาย
                         ควรพวกเราทั้งหลายคิดดูให้เห็นโทษ  และคุณแห่งความตายเสียให้ชัดใจ
                        ผู้มีปัญญาไม่ควรประมาทความตาย  ให้เห็นว่าเป็นสมบัติสำหรับตัวเรา  เราจะต้องตายในกาลอันสมควร  คือความตายมาถึงเราสมัยใด  สมัยนั้นแหละชื่อว่ากาลอันสมควร  ไม่ควรจะเกลียดไม่ควรจะกลัว
                         สังขารทั้งหลาย คือสัตว์ที่เกิดมาในไตรภพ  จะหลีกหลบให้พ้นจากความตายไม่มีเลย
                         เมื่อมีความเกิดเป็นเบื้องต้นแล้ว  ย่อมมีความตายเป็นเบื้องปลายทุกคน
                         นัยหนึ่งให้เอาความเกิด  ความตาย  ซึ่งมีประจำอยู่ทุกวันเป็นเครื่องหมาย
                         เมื่อพิจารณาถึงความตาย  ก็ต้องพิจารณาถึงความป่วยไข้และความแก่ความชรา  เพราะเป็นเหตุเป็นผลกัน ให้พิจารณาถึงพยาธิความป่วยไข้ว่า  พยาธิ  ธมฺโมมฺหิ  พยาธิ  อนตีโต  เรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา  จะข้ามล่วงพ้นไปจากความป่วยไข้หาได้ไม่
                         ถ้าแลพิจารณาเห็นความชราอันเป็นปัจจุบันได้ก็ยิ่งประเสริฐ
                         ความระงับสังขารทั้งหลายนั้น  ท่านมิได้หมายความตาย  ท่านหมายวิปัสสนาญาณและอาสวักขยญาณ  คือปัญญารู้เท่าสังขาร  รู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ  เป็นชื่อของพระนิพพาน  เป็นยอดแห่งความสุข

 (คัดจาก  หนังสือรวมคำสอนจากพระป่า)
(จากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน  เล่ม 1) 



วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปัญญา


ตามปกติคนเรามีปัญญาอยู่ในตัว แต่ใช้ปัญญาไปในทางโลกเสียส่วนใหญ่จึงได้ถูกตัณหาคือความอยากชักลากเอาปัญญาไปครอบครอง  ปัญญาจึงกลายเป็นความคิดเห็น เป็นลูกมือให้แก่กิเลสตัณหาไป
เหมือนกับอาวุธของตำรวจที่ถูกพวกโจรลักไปได้แล้ว ก็จะเป็นเครื่องมือให้แก่พวกโจรไป อยากจะทำอะไรให้คนอื่นได้รับความทุกข์เดือดร้อนอย่างไร ก็ทำตามใจ นี้ฉันใด ปัญญาของเรา เมื่อถูกกิเลสตัณหาลักพาไปได้แล้ว ก็จะกลายเป็นความคิดเพื่อเสริมการทำงานให้แก่กิเลสตัณหาได้เป็นอย่างดี
ถ้าเป็นฝ่ายธรรม เรียกว่า ปัญญา
ถ้าเป็นฝ่ายกิเลสตัณหา เรียกว่า ความคิดปรุงแต่งไปตามสังขาร
เหมือนกับปากกาด้ามเดียว
ถ้าเขียนไปทางคดีโลก ก็เป็นเรื่องของทางโลกไป
ถ้าเขียนในทางธรรม ก็เป็นเรื่องของธรรม
คิดเรื่องถูก ใจก็เป็น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก
คิดในเรื่องผิด ใจก็เกิดความเห็นผิด คิดเรื่องชั่ว ใจก็พลอยเห็นชั่วไปด้วย
คิดเรื่องดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับเรานำเอาเรื่องมาคิด
คิดในเรื่องอะไร ใจก็จะค่อยตามความคิดนั้นๆ
ความคิดเป็นศัพท์ของชาวบ้านพูดกันทั่วไป
ปัญญาเป็นศัพท์พูดกันให้ถูกกับภาษาธรรม
เหมือนคำพูดที่ว่า คนพาลก็หมายถึงคนที่ไม่ดี
ในศัพท์คำพูดว่า นักปราชญ์บัณฑิตก็หมายถึงคนดี
ทั้งที่มีภูมิฐานเชื้อชาติเป็นมนุษย์ด้วยกัน นี้ฉันใด
ปัญญา กับ สังขารการปรุงแต่ง ก็เป็นในลักษณะความคิดเช่นเดียวกัน
แต่ก็คิดไปคนละเรื่อง คิดไปคนละทาง
สังขารการปรุงแต่งคิดในเรื่องเข้าฝ่ายของกิเลสตัณหา
ปัญญาคิดในเรื่องเข้าฝ่ายในทางธรรม


วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กำลังใจดีๆ ให้ตัวเอง

 



 
.. ไม่มีใครเกิดมาไร้ค่า
แม้แต่คนโง่ที่สุดยังฉลาดในบางเรื่อง
และคนฉลาดที่สุด
ก็ยังโง่ในหลายเรื่อง ..


.. ไม่มีอะไรเสียเวลาไปมากกว่า
การคิดที่จะย้อนกลับไปแก้ไขอดีต

ไม่เคยมีอะไรช้าเกินไป
ที่จะทำใหสิ่งที่ตนฝัน ..


.. คนที่ไม่เคยหิว
ย่อมไม่ซาบซึ้งรสของความอิ่ม

ความสำเร็จที่ผ่านความล้มเหลว
ย่อมหอมหวานกว่าเดิม ..

 
.. อันตรายที่สุดของชีวิตคนเราคือ การคาดหวัง
อย่ายอมแพ้ ถ้ายังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่
เหตุผลขอคนๆ หนึ่ง อาจไม่ใช่เหตุผลของคน
อีกคนนึง ถ้าคุณไม่ลองก้าว คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า

ทางข้างหน้าเป็นอย่างไร
ปัญหาทุกอย่างล้วนอยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น
ยินดีกับสิ่งที่ได้มา และยอมรับกับสิ่งที่เสียไป
หลังพายุผ่านไป ฟ้าย่อมสดใสเสมอ
มีแต่วันนี้ที่มีค่า ไม่มีวันหน้า วันหลัง ..


.. คนเรา
ไม่ต้องเก่งไปทุกอย่าง
แต่จงสนุกกับงานทุกชิ้น ที่ได้ทำ ..


หัวใจของการเดินทางไม่ได้อยู่ที่จุดหมาย
หากอยู่ที่ประสบการณ์สองข้างทาง .. มากกว่า


........................................
บทความจาก  
http://www.watsuthatschool.com/viteput/

" ธรรมะสั้นๆ ง่ายๆ 10 ข้อ "...




1. ศีลไม่ได้อยู่ที่พระ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัด เงินไม่ได้อยู่ที่เศรษฐี 
แต่ศีลอยู่ที่กายใจของเรา ธรรมะอยู่ที่สติ และเงินอยู่ทุกที่ ที่มีความขยัน

2. โลกเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า เราใส่แว่นตาสีอะไรมองโลก
หากมองโลกดี ชีวิตจะมีแต่สิ่งรื่นรมย์
หากมองโลกร้าย ชีวิตจะมีแต่วุ่นวายและทุกข์ระทม


3. จงดึงเอาความรู้สึกผิดที่เรามี มาเป็นแรงบันดาลใจให้ทำดียิ่งๆ ขึ้น
อย่าจมอยู่กับอดีต มีแต่การสร้างตัวเองใหม่เท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากความรู้สึกผิด


4. ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมี แต่อยู่ที่เราค้นพบว่า อะไรคือแก่นแท้ของชีวิต
แล้วอยู่กับสิ่งนั้นด้วยความรัก คนนั้นก็คือคนมีความสุข


5. ยามใดที่ชีวิตพบกับความทุกข์ หากไม่มัวแต่เป็นทุกข์
ทว่าเรียนรู้ที่จะมองดูความทุกข์อย่างมีสติ อย่างแยบคาย* อย่างเป็นผู้ดู* ไม่ได้เป็นผู้เป็น*
ความทุกข์ก็จะทอประกายแห่งความสุขออกมาให้เห็น


6. ในเมื่อไม่มีสิ่งที่เราชอบ เราก็ควรชอบสิ่งที่เรามี
เพราะในโลกนี้ไม่มีใครได้ทุกสิ่งอย่างใจหวัง และจะไม่มีใครพลาดหวังทุกอย่างไป
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทำ มีแง่ดีแง่งามอยู่เสมอ
ขอให้เรามองให้เห็น ถ้ามองเห็น เราก็จะเป็นสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า


7. ในโลกแห่งความเป็นจริง คนทุกคนก็เป็นครูได้
คนเก่ง ไม่เก่ง ฉลาดรู้หนังสือ ไม่รู้หนังสือ ยากดีมีจน
สัตว์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ ดิน ฟ้า อากาศ ความผิดหวัง ความสมหวัง ความรัก ความชัง ฯลฯ
เหล่านี้ คือ ครูในมหาวิทยาลัยชีวิต ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ ศึกษากันไปอย่างไม่มีวันจบ


8. อย่าแบกอะไรที่เกินกำลังของตัวเอง
เพราะไม่เพียงแต่ มันจะทำให้เราเป็นทุกข์
แต่บางทีอาจมีผลต่อการยืนตรงๆ อย่างยาวนานของเราด้วย


9. เรื่องบางเรื่องไม่ใช่เรื่องที่ควรทุกข์ แต่พอเราไม่ยอมปล่อยวาง ทุกข์ก็รุกคืบเข้ามา
เรื่องบางเรื่องใครต่อใครก็เห็นอยู่ว่า ทุกข์หนักหนาสาหัส
แต่สำหรับคนที่ปล่อยวางเป็น ก็เป็นสุข
คือ ความสุขหรือความทุกข์ บางครั้งอยู่ที่ “ท่าที” ในการเผชิญของเราเป็นสำคัญ
ถ้า “รู้เท่าทัน” สิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างมีสติ
ทุกข์อาจกลายเป็นสุข, ปัญหาอาจกลายเป็นปัญญา, วิกฤติอาจถูกแปรเป็นโอกาส


10. ความล้มเหลว เป็นส่วนผสมของชีวิตซึ่งขาดไม่ได้
คนที่ไม่เคยล้มเหลว คือคนที่ไม่เคยทำอะไร
ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ คนที่กำลังคิดการใหญ่ทุกคน จึงมองความล้มเหลว ด้วยสายตาที่เป็นบวก
เพราะเขารู้อยู่แก่ใจว่า ความล้มเหลว เป็นฝาแฝดกับความสำเร็จ